วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิธีสอนโดยการใช้สื่อ (Medai)

นายวีระพงศ์ ล่องลอย (https://www.gotoknow.org/user/werapongloy/profile.)
ได้กล่าวถึงววิธีสอนโดยการใช้สื่อไว้ว่า
ทักษะการใช้สื่อการสอน
ทักษะการใช้สื่อการสอน เป็นความสามารถในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ คน หรือวิธีการ ที่ช่วยเป็นตัวกลางในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ผู้สอนตั้งไว้ ผู้สอนสามารถนำสื่อการสอนไปใช้ในทุกขั้นตอนของการสอน เช่น ขั้นการนำเข้าสู่เรื่อง ขั้นสอนเนื้อหา  ขั้นสรุปบทเรียน ฯลฯ  การใช้สื่อประกอบการสอนจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับวิธีการเตรียม การเลือก และการใช้ของผู้สอนแต่ละครั้งเป็นสำคัญ
หลักการใช้สื่อการสอน อาจแบ่งได้เป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.  การเตรียม
2.  การเลือก 
3.  การใช้  
4.  การติดตามผล
หลักเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการใช้สื่อการสอน มีดังนี้
1. การเตรียม
          1.1  สำรวจอุปกรณ์ทุกชิ้นให้อยู่ในสภาพดี ใช้งานได้
          1.2  ทดลองใช้ให้คล่องแคล่ว
1.3  สำรวจและจัดเตรียมห้องเรียนสำหรับใช้อุปกรณ์ให้เกิดความคล่องตัว

2.  การเลือกสื่อการเรียนการสอน
2.1  เลือกสื่อให้เหมาะสมกับระดับวัย ระดับสติปัญญา และปลอดภัยในการใช้
2.2  เลือกขนาด สื่อต้องมีขนาดใหญ่พอสำหรับการสอนจริงในชั้นเรียนที่ใหญ่  ผู้สอนจะต้องคำนึงถึงจำนวนผู้เรียนในชั้นจริงว่า ทุกคนในชั้นจะมองเห็นสื่อได้ชัดเจนหรือไม่
2.3  การใช้สื่อที่เคลื่อนไหวได้ จะช่วยเร้าความสนใจแก่ผู้เรียนได้ดีเป็นพิเศษ
          2.4  ใช้สื่อในปริมาณที่พอเหมาะ  และตรงเป้าหมายกับเรื่องที่จะสอน
2.5  ใช้สื่อที่สัมพันธ์กับบทเรียน และตรงกับจุดมุ่งหมายของเรื่องที่จะสอน


3.  การใช้สื่อการเรียนการสอน
3.1  ใช้ตามลำดับก่อนหลังอย่างคล่องแคล่ว  และแสดงให้เห็นทั่วกันทั้งชั้นอย่างชัดเจน การยกภาพให้ผู้เรียนดูควรยกให้สูงในระดับอกของผู้สอนและอยู่ข้างหน้าชั้นเรียน
3.2  สื่อขนาดใหญ่ต้องมีที่ตั้งหรือที่แขวนเพื่อให้เห็นชัดเจน
3.3  ใช้ไม้บรรทัดชี้สื่อ โดยผู้สอนยืนชิดไปด้านใดด้านหนึ่งไม่ยืนบังสื่อเหล่านั้น
3.4  ในบางครั้งต้องเตรียมความพร้อมในการใช้สื่อของผู้เรียนไว้ล่วงหน้า จึงจะ  ทำให้ผู้เรียนทำตามจุดมุ่งหมายของผู้สอนได้
3.5  ควรใช้สื่อให้คุ้มค่ากับที่ได้เตรียมมา  กล่าวคือ  พยายามใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด เช่น ใช้แผนภูมิส่วนประกอบของต้นไม้ในขั้นสอนแล้ว อาจใช้แผนภูมินั้น ๆ ในขั้นสรุปบทเรียนอีกแต่ต้องมีวิธีใช้ต่างกันไปกับขั้นสอน  เป็นต้น
3.6  ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้สื่อ เช่น ให้อธิบายภาพสะกดและอ่านบัตรคำ เลือกภาพ จับคู่
3.7  ในโอกาสที่ต้องการแจกสื่อไปตามโต๊ะผู้เรียน  เช่น เทียนไข  ไม้ขีด  กระดาษ  ฯลฯ  ผู้สอนควรจะฝึกให้ผู้เรียนแจกกันเองได้  โดยผู้สอนให้ผู้เรียนหยิบส่วนของตนไว้  ที่เหลือส่งต่อไป
3.8  ในกรณีที่ต้องการให้ผู้เรียนมาใช้สื่อหน้าชั้น  ควรฝึกให้ผู้เรียนหันหน้า  เข้าหาชั้นเรียน และไม่ยืนบังตาของเพื่อนจากสื่อต่าง ๆ ที่ใช้ นอกจากนี้ควรกำชับถึงความปลอดภัย และความระมัดระวังเป็นพิเศษในด้านความเสียหาย

4.  การติดตามผล
เป็นการติดตามผลของการใช้สื่อการสอน  เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนได้รับความรู้จากสื่อนั้นมากน้อยเพียงใด  มีข้อบกพร่องอย่างไร

ประโยชน์ของการใช้สื่อการสอน
การใช้สื่อการสอนที่เหมาะสมและใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนได้ดังนี้
1.  การใช้สื่อการสอนจะกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียน  ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้รับความรู้และเกิดประโยชน์
2.  การใช้สื่อการสอนจะให้โอกาสแก่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างทั่วถึง
3.  การใช้สื่อการสอนช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดแนวคิดและความเข้าใจที่ถูกต้องและรวดเร็ว
4.  ผู้เรียนเกิดทักษะในการศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเองจากสื่อการสอน
5.  การใช้สื่อการสอนสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการจำเรื่องราวและสิ่งต่าง ๆ ได้นาน แม่นยำและถูกต้อง
6.การใช้สื่อการสอนมีส่วนช่วยในการเพิ่มพูนประสบการณ์เดิมของผู้เรียนและเปลี่ยนทัศนคติไปในทางที่พึงปรารถนาได้

นางสาวอูมัยกือซง หะระตี (http://umiakesung.blogspot.com/p/blog-page_6355.html.)
ได้กล่าวถึงววิธีสอนโดยการใช้สื่อไว้ว่า
เทคนิคการใช้สื่อการสอน
สื่อและวัสดุอุปกรณ์การสอนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปด้วยดี  การสอนที่มีการใช้วัสดุ อุปกรณ์ประกอบการเรียนนอกจากจะทำให้นักเรียนเห็นความเป็นรูปธรรมของสิ่งที่ครูสอนและเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจของนักเรียนให้เด่นชัดและง่ายขึ้นแล้วการสอนที่มีการใช้วัสดุอุปกรณประกอบการสอนยังช่วยเพิ่มบรรยากาศของการสอนให้น่าสนใจ  เนื่องจากมีการแปรเปลี่ยนสิ่งเร้าหลายๆ อย่าง และครูยังสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ กระตุ้นให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย  (ประดินันท์  อุปรมัย, 2540: 176-177)อย่างไรก็ตาม  สื่อการสอนจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อครูได้นำไปใช้อย่างเหมาะสมและถูกวิธี ดังนั้นก่อนที่จะนำสื่อแต่ละอย่างไปใช้ ครูจึงควรที่จะศึกษาได้ถึงลักษณะและคุณสมบัติของสื่อการสอน  ข้อดีและข้อจำกัดอันเกี่ยวเนื่องกับตัวสื่อและการใช้สื่อแต่ละอย่าง  ตลอดจนการผลิต และใช้สื่ออย่างเหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอนด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การจัดกิจกรรมการสอนบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่วางไว้  (กิดานันท์  มลิทอง,2531: 81-82  อ้างถึงใน อาภรณ์  ใจเที่ยง, 2546: 188)

ความหมายของสื่อ
ความหมายของคำว่า  สื่อ”  ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พุทธศักราช  2542  มีหลากหลายความหมาย  แต่ความหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน  หมายถึง  ติดต่อให้ถึงกัน  เช่น  สื่อความหมาย  (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546:1200)  ฉะนั้น  สื่อการสอนก็หมายถึง สิ่งที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับการสอน  ซึ่งก็คือครูและนักเรียนติดต่อถึงกัน  เพื่อสื่อความหมายของสิ่งที่ต้องการจะสอนหรือให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
กิดานันท์  มลิทอง (2544: 1)  กล่าวถึง คำว่า สื่อและ สื่อการสอนและการฝึกอบรม”  ว่า  สื่อมาจากคำภาษาลาติน  “medium” แปลว่า  ระหว่าง”  หมายถึง สิ่งใดก็ตามที่บรรจุข้อมูลเพื่อให้ผู้ส่งและผู้รับสามารถสื่อสารกันได้ตรงตามวัตถุประสงค์  สื่อการสอนและการฝึกอบรม”  เป็นสื่อที่บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนและฝึกอบรมในรูปแบบวัสดุ  อุปกรณ์  และเทคนิควิธีการ  โดยอาจเป็นหนังสือ  แผนภูมิ  รูปภาพ  สไลด์  แถบวีดีทัศน์  แผ่นโปร่งใส  เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ  เครื่องวิชวลไลเซอร์  เครื่องเล่นวีซีดี  ลำโพง  ไมโครโฟน  โปรแกรมคอมพิวเตอร์  คอมพิวเตอร์  การสาธิต  การศึกษานอกสถานที่  ฯลฯ  รวมถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบเครือข่ายมาใช้ร่วมในการสอนและฝึกอบรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและได้ประสิทธิผลเพิ่มพูนยิ่งขึ้นด้วยชาญชัย  ยมดิษฐ์  (2548: 417)  อธิบายว่า  สื่อการเรียนการสอนเป็นตัวกลางเชื่อมโยงความรู้ ความเข้าใจระหว่างสารที่ครูส่งไปยังนักเรียน  ทำให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ที่ครูกำหนดไว้ โดยสื่อที่ครูใช้สอนเรียกว่า  สื่อการเรียนการสอน  ก็แปลว่า  นักเรียนก็เรียนรู้  ครูก็ใช้สอนด้วยนั่นเอง
สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์  (2550: 71)  กล่าวว่า  สื่อการเรียนรู้  หมายถึง  สิ่งใด ๆ ก็ตามที่เป็นเครื่องช่วยถ่ายทอดความรู้จากบทเรียนไปสู่นักเรียน ซึ่งจะช่วยทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์ของการใช้สื่อการสอน
เฉลิม  มลิลา  (2526: 118)  กล่าวถึง  วัตถุประสงค์ของการใช้สื่อการสอน  ดังนี้
1. เพื่อให้ประสบการณ์ตรง (Direct  Experience)  และเป็นจริงแก่นักเรียน
2. เพื่อให้นักเรียนได้โดยง่าย  และสะดวกขึ้น
3. เพื่อเร้านักเรียนให้มีความสนใจในบทเรียนอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอน  และตลอดเวลา
4.  เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน
5.เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะความสามารถเนื่องจากไดเรียนรู้ด้วยการลงมือทดลองและฝึกปฏิบัติ  (Learning  by doing)
6.เพื่อให้นักเรียนกล้าแสดงออกทางความคิด  และการแสดงบทบาทอย่างสมควรและโดยสมเหตุสมผลตามแนวทางที่ดีและเป็นที่พึงประสงค์ของสังคม
7.  เพื่อให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
8.  เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนการสอน
9.  เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี  (interaction)  ระหว่างนักเรียนครู
10.เพื่อให้ประหยัดเวลา  วัสดุ อุปกรณ์ ค่าใช้จ่าย  และบุคลากร  ในขณะเดียวกัน  ทำให้นักเรียนจำนวน มากเกิดการเรียนรู้อย่างคุ้มค่า  ภายใต้สถานการณ์ที่ดีและได้มาตรฐานอย่างเดียวกัน

ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อนักเรียน
ระวิวรรณ  ศรีคร้ามครัน  (2551: 93)  กล่าวถึง  ประโยชน์ของสื่อการสอน  ดังนี้
1.  ช่วยพัฒนาความคิดนักเรียน  การที่นักเรียนได้รู้  เห็นสภาพของปัญหาต่าง ๆ ได้ยินหรือได้สัมผัสโดย   การใช้สื่อการสอนประเภทต่าง ๆ เช่น จากภาพยนตร์  รูปภาพจะสามารถพัฒนาความคิดเห็นของนักเรียน  โดยการคิดค้นหาวิธีการแก้ไขอย่างมีหลักการ  และมีเหตุผล  ทำให้มีความคิดกว้างไกลมากขึ้น
2.   เพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่นักเรียน  ทำให้นักเรียนมีประสบการณ์มากขึ้นเนื่องจากได้เห็นของจริง  ได้ยินหรือสัมผัส  ทำให้สามารถเปรียบเทียบสิ่งที่ได้เห็นในปัจจุบันกับความก้าวหน้าต่าง ๆ ที่นักเรียนได้เรียนรู้ใหม่จากสื่อการเรียนต่าง ๆ เช่น จากภาพยนตร์ หรือจากการทัศนศึกษา
3. กระตุ้นหรือเร้าความสนใจของนักเรียน  ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่นำมาเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนนอกเหนือจากการเรียนปกติในชั้นเรียน  สามารถทำให้นักเรียนสนใจการเรียนมากขึ้น  มีความกระตือรือร้น  ใคร่รู้เห็นสิ่งที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ ซึ่งจะกระตุ้นความคิดของนักเรียนได้

อาภรณ์  ใจเที่ยง  (2546: 188)  อธิบายถึงประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อนักเรียนไว้  ดังนี้
1.   เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพราะช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจ เนื้อหาบทเรียนที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ง่ายขึ้นในระยะเวลาสั้น  และสามารถช่วยให้เกิดความคิดรวบยอดในเรื่องนั้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
2.   ช่วยกระตุ้นและสร้างความสนใจให้กับนักเรียน  ทำให้เกิดความสนุกและไม่เบื่อหน่ายการเรียน
3.   ทำให้นักเรียนมีความเข้าใจตรงกัน  และเกิดประสบการณ์ร่วมกันในวิชาที่เรียนนั้น
4.   ช่วยให้นักเรียนไดมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น  ทำให้เกิดมนุษยสัมพันธ์อันดีในระหว่างนักเรียนด้วยกันเองและกับครู
5.   ช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้  และช่วยให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์จากการใช้สื่อเหล่านั้น
6.   ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล  โดยจัดการให้มีการใช้สื่อในการเรียนการสอนรายบุคคล

สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์  (2550: 75-77) กล่าวถึง  ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อนักเรียนหลายประการ ในที่นี้นำเสนอประการ ดังนี้
1.    ช่วยให้ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมแก่นักเรียน
2.    ช่วยให้สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ศึกษาได้ยากลำบากและทำการสอนง่ายขึ้น

ศักดิ์ศรี  ปาณะกุล (2550: 7-8 )  กล่าวถึงคุณค่าของสื่อการเรียนรู้ต่อนักเรียนหลายประการ ดังนี้
1.   ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้นด้วยการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมที่สามารถสัมผัสและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
2.   ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้มากขึ้นในเวลาที่กำหนดหรือรวดเร็วกว่าการไม่ใช้สื่อ
3.   ช่วยให้นักเรียนจดจำสิ่งที่เรียนได้มาก  แม่นยำ  และคงทนถาวรยิ่งขึ้น  เพราะความประทับใจในประสบการณ์ที่ได้รับจากสื่อนั้นๆ
4.   ช่วยให้นักเรียนเข้าใจเรื่องราวต่างๆ  ตรงกัน  และเกิดประสบการณ์ร่วมในเรื่องราวเดียวกัน
5.   ช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตปัจจุบัน และคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
6.   ช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง  แปลกใหม่  และมีคุณค่า  ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ที่บรรลุเป้าหมายและคาดหวังของนักเรียน

ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อครู
อาภรณ์  ใจเที่ยง  (2546: 188) กล่าวถึง  ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อครู ดังนี้
1.   ช่วยให้บรรยากาศในการเรียนน่าสนใจยิ่งขึ้น  ทำให้ครูมีความสนุกสนานและมีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มมากขึ้น
2.   ช่วยแบ่งเบาภาระของครูในด้านการเตรียมเนื้อหา  เพราะบางครั้งอาจให้นักเรียนศึกษาเนื้อหาจากสื่อได้เอง
3. เป็นการกระตุ้นให้ครูตื่นตัวอยู่เสมอในการเตรียมและผลิตวัสดุใหม่ๆ  เพื่อใช้เป็นสื่อการอสน ตลอดจนคิดค้นเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อให้การเรียนรู้น่าสนใจยิ่งขึ้น

ศักดิ์ศรี  ปาณะกุล (2550: 6-7) กล่าวถึงคุณค่าของสื่อการเรียนรู้ต่อครู ดังนี้
1.   ช่วยสร้างบรรยากาศการจัดการเรียนรู้ที่ดี  น่าสนใจ  สนุกสนาน  มีความน่าเชื่อถือจึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับครูได้เป็นอย่างดี  และนำไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่บรรลุเป้าหมายของครูในที่สุด
2.   ช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการเรียนรู้  เช่น ทำให้ครูพูดน้อยลง  ถ่ายทอดเนื้อหาด้วยตนเองน้อยลง  โดยที่นักเรียนเรียนรู้ได้เองภายใต้การกำกับดูแลหรือเงื่อนไขของครู  ไม่ต้องเตรียมและสอนซ้ำซากเพราะได้เตรียมสื่อและวิธีการใช้สื่อไว้แล้วเป็นอย่างดี  จนทำให้สามารถนำไปใช้ในครั้งต่อ ๆ ไปได้ทันที
3.   ช่วยกระตุ้นให้ครูเตรียม  ผลิต  หรือพัฒนาสื่อใหม่ ๆ  รวมทั้งคิดค้นวิธีการที่น่าสนใจ
4.   ช่วยแก้ปัญหาและทดแทนสิ่งที่ครูไม่ถนัด  เช่น  พูดไม่เก่ง  จดจดข้อมูลได้ไม่มากพอ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง  และการปรากฏตัวต่อหน้าคนจำนวนมาก
5.   ช่วยให้ครูสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ  สำหรับการสอนที่เป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย  และเป็นรายบุคคล  โดยอาศัยสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมประกอบ
6.   ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโดยตรง  เพราะทำให้ครูผู้สอนสามารถสอนได้เร็ว  ถูกต้องแม่นยำ ใช้เวลาสั้นลง  แต่ทำให้นักเรียนเรียนได้มากขึ้น
7.   ช่วยให้ครูมีปฏิสัมพันธ์และติดตามดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล  เพราะใช้เวลาในด้านการบรรยายถ่ายทอดเนื้อหาสาระ  การเตรียมการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ น้อยลงจึงมีเวลาเพิ่มขึ้น
8.   ช่วยให้ครูสามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ได้ตรงจุดมุ่งหมายในทุกขั้นตอน
9.ช่วยให้ครูสามารถนำประสบการณ์จากแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมายภายนอกห้องเรียนมานำเสนอต่อนักเรียนและทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่มีความหมาย
10. ช่วยให้ครูได้รับทราบผลป้อนกลับจากนักเรียน และนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาสื่อและการจัดการเรียนรู้ของตนได้ตลอดเวลา

สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์  (2550: 77)  กล่าวถึง  ประโยชน์ของสื่อการสอนต่อครู  ดังนี้
1.   ช่วยให้ความสะดวกแก่ครูในการสอน การสอนเป็นไปด้วยดี
2.   ช่วยผ่อนแรงในการอธิบาย  อธิบายได้ตรงประเด็น
3.   ช่วยประหยัดเวลาในการสอน    
4.   ช่วยให้ครูและนักเรียนมีความเข้าใจตรงกัน
5.   ช่วยให้ครูสังเกตปฏิกิริยานักเรียนได้
6.   ช่วยให้ครูมีความมั่นใจในการสอนมากขึ้น

สื่อในยุคปัจจุบัน
กิดานันท์  มลิทอง (2544: 2) กล่าวว่า  รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  จากการเรียนนี้จึงต้องพัฒนาในห้องเรียนไปสู่การเรียนในห้องเรียนขนาดใหญ่และการศึกษาทางไกล  ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการพัฒนาสื่อการสอนโดยการนำสื่อเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น
1.การใช้กล้องโทรทัศน์ถ่ายทอดการสอนจากครูคนเดียวไปยังนักเรียนจำนวนมากที่อยู่ในห้องเรียนต่างๆ
2.การใช้เครื่องวิชวลไลเซอร์และเครื่องแอลซีดีถ่ายทอดเนื้อหาและภาพจากวัสดุขนาดเล็กให้ฉายขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ชมได้อย่างชัดเจนทั่วถึง
3.การใช้เครื่องแอลซีดีถ่ายทอดข้อมูลจากคอมพิวเตอร์บนจอภาพ
4.การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนและฝึกอบรมในรูปแบบเว็บเพื่อการศึกษา
5.การใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตในการเรียนการสอนและฝึกอบรม  รวมถึงการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก
6.การใช้ดาวเทียมถ่ายทอดการสอนจากสถาบันการศึกษาหนึ่งไปยังสถาบันต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล
7.การวางระบบแลน  (local  area  network)  เพื่อสร้างเครือข่ายภายในสถาบันการศึกษาในการติดต่อและใช้ทรัพยากรร่วมกัน
8.การพัฒนาระบบเครือข่ายและซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษาทางไกลในรูปแบบการสื่อสาร 2 ทางในลักษณะการประชุมทางไกล  (teleconference)

ประเภทของสื่อการสอน
สื่อการสอนมีหลายประเภท  และมีการจำแนกประเภทโดยใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน  สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์  (2550: 71-72)  จำแนกประเภทของสื่อได้เป็น  6  ประเภทใหญ่ๆ  ดังนี้
1.  สื่อสิ่งพิมพ์  มีทั้งพิมพ์ที่จัดทำขึ้นเพื่อสนองการเรียนรู้ตามหลักสูตรโดยตรง  เช่น  หนังสือเรียน  คู่มือครู  แผนการเรียนรู้  หนังสืออ้างอิง  หนังสืออ่านเพิ่มเติม  แบบฝึกกิจกรรม  ใบงาน  ใบความรู้  ฯลฯ  และสิ่งพิมพ์ทั่วไปที่สามารถนำมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้  เช่น  วารสาร  นิตยสาร  จุลสาร  หนังสือพิมพ์  จดหมายข่าว  โปสเตอร์   แผ่นพับ  แผ่นภาพ  เป็นต้น
2.  สื่อบุคคล  หมายถึง  ตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสาระความรู้  แนวคิด  และวิธีปฏิบัติตนไปสู่บุคคลอื่น  นับเป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญ  โดยเฉพาะในด้านการโน้มน้าวจิตใจของนักเรียน  สื่อบุคคลอาจเป็นบุคลากรที่อยู่ในสถานศึกษา  เช่น  ผู้บริหาร  ครู  บุคลากรทางการศึกษา  คนทำอาหาร  หรือตัวนักเรียนเอง  หรืออาจเป็นบุคลากรภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ  
3.  สื่อวัสดุ  เป็นสื่อที่เก็บสาระความรู้อยู่ในตัวเอง  จำแนกออกเป็น 2  ลักษณะ  คือ
3.1  วัสดุประเภทที่สามารถถ่ายทอดความรู้อยู่ได้ด้วยตัวเอง  โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วย เช่น  รูปภาพ  หุ่นจำลอง  เป็นต้น
3.2  วัสดุประเภทที่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้โดยตนเองจำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นช่วย  เช่น  ฟิล์มภาพยนตร์  เทปบันทึกเสียง  ซีดีรอม  แผ่นดิสก์  เป็นต้น
4. สื่ออุปกรณ์  หมายถึง  สิ่งที่เป็นตัวกลางหรือตัวผ่าน  ทำให้ข้อมูลหรือความรู้ที่บันทึกในวัสดุสามารถถ่ายทอดอกมาให้เห็นหรือได้ยิน  เช่น  เครื่องฉายแผ่นโปร่งใส  เครื่องฉายสไลด์  เครื่องฉายภาพยนตร์  เครื่องคอมพิวเตอร์  เครื่องบันทึกเสียง เป็นต้น
5.  สื่อบริบท เป็นสื่อที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการเรียนการสอน  ได้แก่  สภาพแวดล้อม และสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ห้องเรียน  ห้องปฏิบัติการ  แหล่งวิทยาการหรือแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ เช่น  ห้องสมุด  หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในรูปของสิ่งมีชีวิต  เช่น  พืชผัก  ผลไม้ สัตว์ชนิดต่างๆ หรืออยู่ในรูปของปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นรอบตัว  ตลอดจนข่าวสารด้านต่างๆ เป็นต้น
6.  สื่อกิจกรรม  เป็นกิจกรรมหรือกระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียน  ได้แก่  การแสดงละคร  บทบาทสมมติ  การสาธิต  สถานการณ์จำลอง การจัดนิทรรศการ  การไปทัศนศึกษานอกสถานที่  การทำโครงงาน

(http://www.elearning.msu.ac.th/opencourse/0503780/Unit04/unit04_006.htm.)
ได้กล่าวถึงววิธีสอนโดยการใช้สื่อไว้ว่า
หลักการเลือกสื่อการสอน
การเลือกสื่อการสอนเพื่อใช้ในการเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด จำเป็นจะต้องมีจุดประสงค์ในการเลือกสื่อการสอนที่เหมาะสม ซึ่งหลักการเลือกสื่อการสอนมี ดังนี้
1. สื่อนั้นต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาบทเรียนและจุดมุ่งหมายที่จะสอน
2. เลือกสื่อที่มีเนื้อหาถูกต้อง ทันสมัย น่าสนใจ และเป็นสื่อที่จะให้ผลต่อการเรียนการสอนมากที่สุด ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาวิชานั้นได้ดี เป็นลำดับขั้นตอน
3. เป็นสื่อที่เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น ความรู้ และประสบการณ์ของผู้เรียน
4. สื่อนั้นควรสะดวกในการใช้ มีวิธีใช้ไม่ซับซ้อนยุ่งยากจนเกินไป
5. ต้องเป็นสื่อที่มีคุณภาพเทคนิคการผลิตที่ดี มีความชัดเจน และเป็นจริง
6. มีราคาไม่แพงจนเกินไป หรือถ้าจะผลิตเองควรคุ้มกับเวลา และการลงทุน

หลักการใช้สื่อการสอน
1. เตรียมตัวผู้สอน เป็นการเตรียมความพร้อมของตัวผู้สอนในการใช้สื่อการสอน โดยการทำความเข้าใจในเนื้อหาที่มีในสื่อ ขั้นตอน และวิธีการใช้สื่อ เป็นต้น
2. เตรียมจัดสภาพแวดล้อม เช่น สถานที่ ห้องเรียน ห้อง Lab วัสดุอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และสิ่อำนวยความสะดวกต่างๆ
3. เตรียมตัวผู้เรียน  เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเรียน อาจมีการทดสอบ มีการอธิบายวิธีการใช้สื่อ อุปกรณ์  เครื่องมือต่างๆบอกวัตถุประสงค์ แนะนำหรือให้ความคิดรวบยอดของเนื้อหาในสื่อนั้นๆ เป็นต้น
4. การใช้สื่อให้เหมาะกับขั้นตอนและวิธีการ  ตามที่ได้เตรียมไว้แล้ว และควบคุมการนำเสนอสื่อ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น
5. การติดตามผล ( Follow Up ) หลังจากการใช้สื่อการสอนแล้ว ควรมีการติดตามผลเพื่อเป็นการทดสอบว่า ผู้เรียนเข้าใจบทเรียน และเรียนรู้ จากสื่อที่นำเสนอไปนั้นอย่างถูกต้องหรือไม่ เช่น การให้ผู้เรียนตอบคำถาม อภิปราย ทำรายงาน เป็นต้น  เพื่อผู้สอนจะได้ทราบจุดบกพร่อง สามารถ นำมาแก้ไขปรับปรุงสำหรับการสอนในครั้งต่อไป         

ขั้นตอนการใช้สื่อการสอน
การใช้สื่อการสอนนั้นอาจจะใช้เฉพาะขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของการสอน หรือจะใช้ทุกขั้นตอนก็ได้ ดังนี้
1. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในเนื้อหาที่กำลังจะเรียนนั้น  สื่อที่ใช้ในขั้นนี้จึงเป็นสื่อที่แสดงเนื้อหากว้างๆ หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนในครั้งก่อน  ยังมิใช่สื่อที่เน้นเนื้อหาเจาะลึกอย่างแท้จริง และควรเป็นสื่อที่ง่ายต่อการนำเสนอในระยะเวลาอันสั้น เช่น ภาพ บัตรคำ เป็นต้น
2. ขั้นดำเนินการสอนหรือประกอบกิจกรรมการเรียน  เป็นขั้นที่จะให้ความรู้ เนื้อหาอย่างละเอียดเพื่อสนองวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ผู้สอนควรเลือกสื่อให้ตรงกับเนื้อหา และวิธีการสอน ต้องมีการจัดลำดับขั้นตอนการใช้สื่อให้เหมาะและสอดคล้องกับกิจกรรมการเรียน การใช้สื่อในขั้นนี้ จะต้องเป็นสื่อที่เสนอความรู้อย่างละเอียดถูกต้องและชัดเจนแก่ผู้เรียน เช่น สไลด์  แผนภูมิ วีดิทัศน์ เป็นต้น
3. ขั้นวิเคราะห์และฝึกปฏิบัติ  เป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ตรงแก่  ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้ทดลองนำความรู้ที่เรียนมาแล้วไปใช้แก้ปัญหาในขั้นฝึกหัด โดยการลงมือ ฝึกปฏิบัติเอง สื่อในขั้นนี้จึงเป็นสื่อที่เป็นประเด็นปัญหาให้ผู้เรียนได้ขบคิด โดยผู้เรียนเป็นผู้ใช้สื่อเองมากที่สุด เช่น ภาพ บัตรปัญหา สมุดแบบฝึกหัด เป็นต้น
4. ขั้นสรุปบทเรียน  เป็นการย้ำเนื้อหาบทเรียนให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ  ที่ถูกต้อง  และตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ขั้นสรุปควรใช้เวลาเพียงสั้นๆ สื่อที่สรุปจึงควร  ครอบคลุมเนื้อหาสำคัญทั้งหมด เช่น แผนภูมิ แผ่นโปร่งใส เป็นต้น
5. ขั้นประเมินผู้เรียน  เป็นการทดสอบว่าผู้เรียนเข้าใจในสิ่งที่เรียนไปถูกต้องมากน้อยเพียงใด และบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ สื่อในขั้นการประเมินนี้มักจะเป็นคำถามจากเนื้อหาบทเรียนโดยอาจมีภาพประกอบด้วยก็ได้

สรุปวิธีการสอนโดยใช้สื่อ (Medai)
สื่อและวัสดุอุปกรณ์การสอนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปด้วยดี  การสอนที่มีการใช้วัสดุ อุปกรณ์ประกอบการเรียนนอกจากจะทำให้นักเรียนเห็นความเป็นรูปธรรมของสิ่งที่ครูสอนและเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจของนักเรียนให้เด่นชัดและง่ายขึ้นแล้วการสอนที่มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบการสอนยังช่วยเพิ่มบรรยากาศของการสอนให้น่าสนใจ  เนื่องจากมีการแปรเปลี่ยนสิ่งเร้าหลายๆ อย่าง และครูยังสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ กระตุ้นให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย  การใช้สื่อประกอบการสอนจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับวิธีการเตรียม การเลือก และการใช้ของผู้สอนแต่ละครั้งเป็นสำคัญ
การที่ผู้สอนเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนอย่างมาก คือ จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียน ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้รับความรู้และเกิดประโยชน์ ช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างทั่งถึง  ช่วยให้ผู้เรียนเกิดแนวคิดและความเข้าใจถูกต้อรวดเร็ว ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อการสอน  ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการจำสิ่งต่างๆได้นาน แม่นยำและถูกต้อง และนอกจากนี้การใช้สื่อการสอนมีส่วนช่วยในการเพิ่มพูนประสบการณ์เดิมของผู้เรียนและเปลี่ยนทัศนคติไปในทางที่พึงปรารถนาได้


การเลือกสื่อการสอนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพนั้น ไม่เพียงแต่จะมีประโยชน์แต่กับผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังจะมีประโยชน์ต่อผู้สอนอีกด้วย กล่าวคือ สามารถช่วยสร้างบรรยากาศการจัดการเรียนรู้ที่ดี น่าสนใจ สนุกสนาน ช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการเรียนรู้  กระตุ้นให้ครูเตรียมสร้างสิ่งใหม่ๆ ช่วยแก้ปัญหาและทดแทนในสิ่งที่ครูไม่ถนัด ช่วยให้ครูสามารถจัดประสบการณ์เรียนรู้ได้หลากหายรูปแบบ  เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโดยตรง ช่วยให้ครูมีปฏิสัมพันธ์และติดตามดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล  ช่วยให้ครูสามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ได้ตรงจุดมุ่งหมายในทุกขั้นตอน ช่วยให้ครูสามารถนำประสบการณ์จากแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมายภายนอกห้องเรียนมานำเสนอต่อนักเรียนและทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่มีความหมาย และช่วยให้ครูได้รับทราบผลป้อนกลับจากนักเรียน และนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาสื่อและการจัดการเรียนรู้ของตนได้ตลอดเวลา

อ้างอิง
นายวีระพงศ์ ล่องลอย.
[online].(https://www.gotoknow.org/user/werapongloy/profile.).ทักษะการใช้สื่อการ         สอน.สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2558.
อูมัยกือซง หะระตี.
[online].(http://umiakesung.blogspot.com/p/blog-page_6355.html.).เทคนิคการใช้สื่อ        การสอนสืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2558.
(http://www.elearning.msu.ac.th/opencourse/0503780/Unit04/unit04_006.htm.).                                       สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2558.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น