วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

องค์ประกอบของการเรียนรู้


         วาริน สายโอบเอื้อ ( 2529 : 43 ) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการเรียนรู้ไว้ว่า กระบวนการเรียนรู้เป็นวัฎจักรของความสัมพันธ์ระหว่างสามตัวแปร คือ
1. สิ่งเร้า  (Stimulus) มีความสำคัญมากสิ่งเร้าจะผ่านอวัยวะรับสัมผัสเข้ามาทางประสาทสัมผัสทั้งห้า
2. อินทรีย์ (Organism) ในสถานการณ์การเรียนรู้ที่ซับซ้อนนี้ผู้เรียนจะต้องแปลสิ่งเร้าด้วยการวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อหาทางตอบสนองในทางที่ถูกต้อง ซึ่งต้องอาศัยการรับรู้ แรงจูงใจ ทัศนคติ สติปัญญา ทักษะและประสบการณ์เดิมมาช่วย
3. การตอบสนอง (Response) การเรียนรู้นั้นพิจารณาจกการกระทำหรือการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ประสบ ซึ่งเป็นตัวแปรที่จะบอกให้ทราบว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่อย่างไรและรวดเร็วเพียงใด เพราะเราสามารถวัดจากการเรียนรู้ของผู้เรียนได้จากตัวแปรนี้

            อารี พันธ์มณี ( 2534 : 88 ) ได้กล่าวว่า การเรียนรู้ประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ดังนี้  
1. แรงขับ (Drive) เกิดขึ้นเมื่ออินทรีย์ (Organsim) ขาดสมดุล เช่น ขาดอาหาร ขาดน้ำ ขาดการพักผ่อน ฯลฯ ภาวะเหล่านี้จะกระตุ้นให้อินทรีย์แสดงพฤติกรรมเพื่อปรับให้อินทรีย์อยู่ในสภาพสมดุลอย่างเดิม แรงขับมีอยู่ 2 ประเภท คือ
      1.1 แรงขับพื้นฐาน (Primary Drive) เกิดเนื่องจกความต้องการที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต เป็นความต้องการทางร่างกายต่างๆที่เกิดขึ้น พร้อมๆกับการมีชีวิตของคน
     1.2 แรงขับที่เกิดจากการเรียนรู้ (Secondary Drive) เกิดขึ้นภายหลัง เป็นความต้องการทางสังคม เช่น ความรัก ฐานะทางสังคม ความมั่นคงปลอดภัย
2. สิ่งเร้า (Stimulus) เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้อินทรีย์แสดงกิจกรรมโต้ตอบออกมา เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมตอบสนองของร่างกาย
3. การตอบสนอง (Response) เป็นพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่อินทรีย์แสดงออกมาเมื่อมีสิ่งเร้าไปเร้า
4. การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการทำให้สิ่งเร้าและการตอบสนองมีความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น เช่น เมื่อนักเรียนทำเลขถูกก็เสริมแรงโดยการให้รางวัล การเสริมแรงนี้จะทำให้นักเรียนอยากเรียน ในคราวต่อไป

          นราพร เล็กสุขุม ( ... : 15 ) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ไว้ว่า การที่คนเราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการด้วยกัน เช่น ตัวผู้เรียน บทเรียน วิธีการจัดการเรียนการสอน ฯลฯ ซึ่งจะแยกกล่าวแต่ละองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ ดังนี้
1. ตัวผู้เรียน ซึ่งได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ
        1.1 วุฒิภาวะ คือ การเจริญเติบโตเต็มที่สูงสุดในระยะใดระยะหนึ่งที่พร้อมจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เหมาะสมกับวัย ดังนั้นวุฒิภาวะจึงเป็นองค์ประกอบในตัวผู้เรียนอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้
1.2 ความพร้อม คือ สภาพของคนที่มีวุฒิภาวะ รวมทั้งความสนใจและประสบการณ์เดิม ที่จะทำให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี ดังนั้นความพร้อมจึงทำให้การเรียนรู้ได้ผลดีและรวดเร็ว
1.3 ประสบการณ์เดิม ผู้ที่มีประสบการณ์มากจะทำให้เกิดการเรียนรู้ต่างๆได้มาก เร็ว และดีกว่าผู้ที่มีประสบการณ์น้อย
1.4 อายุ นักจิตวิทยาพบว่ายิ่งอายุมากขึ้นความสามารถในการเรียนรู้จะลดลง นั่นคือความสามารถในการเรียนรู้ถึงขีดสูงสุด เมื่ออายุ 20 ถึง 25 ปี หลังอายุ 35 ปี ไปแล้วความสามารถในการเรียนรู้จะลดลงไปเรื่อยๆ
1.5 แรงจูงใจ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ได้ดี บางคนอาจเรียนรู้ได้ดีแต่ไม่เต็มที่ตามความสามารถของเขา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะขาดแรงจูงใจ ดังนั้นการเรียนรู้จะได้ผลดีถ้าผู้เรียนมีแรงจูงใจที่จะเรียน
1.6 ระดับสติปัญญา ผู้ที่มีระดับสติปัญญาสูงจะมีความสามารถในการเรียนรู้ดีกว่าผู้ที่มีระดับสติปัญญาต่ำ
1.7 อารมณ์ ผู้ที่มีอารมณ์ปกติจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆดีกว่าผู้ที่มีอารมณ์ไม่มั่นคง หรือมีความกระวนกระวายใจ วิตกกังวล
1.8 สภาพร่างกาย ผู้ที่มีสภาพร่างกายปกติก็จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดีกว่าผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย คนที่หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ มีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ฯลฯ ยิ่งมีความบกพร่องมากเท่าใด ความสามารถในการเรียนรู้ก็จะมีน้อยลงเท่านั้น
2. บทเรียน ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ ได้แก่
    2.1 ความยากง่ายของบทเรียน บทเรียนที่ง่าย จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วกว่าบทเรียนที่ยาก
   2.2 ความยาวของบทเรียน บทเรียนที่มีความยาวมากย่อมทำให้เกิดเกิดการเรียนรู้ได้ช้ากว่าบทเรียนที่มีความสั้นกว่
   2.3 การมีความหมายของบทเรียน บทเรียนที่มีความหมายจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าบทเรียนที่ไม่มีความหมาย
3. วิธีจัดการเรียนการสอน ได้แก่
  3.1 กิจกรรมในการจัดการเรียนการสอน ถ้าให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม จะทำให้เด็กเกดการเรียนรู้ได้ดีและนวดเร็ว
  3.2 การใช้เครื่องล่อใจ (Incentive) เช่น การให้รางวัล การแข่งขัน ฯลฯ จะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้เร็วขึ้น จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี
  3.3 การแนะแนวในการเรียน ถ้าครูแนะแนวเด็กได้ถูกต้องเหมาะสมจะช่วยให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น นั่นคือต้องระวังว่าถ้าแนะแนวเด็กมากไป จะทำให้เด็กไม่เป็นตัวของตัวเองและถ้าแนะแนวเด็กน้อยไปอาจทำให้เด็กปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องได้
   3.4 การส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้ เช่น นำสิ่งที่เรียนไปใช้ประโยชน์ในสถานการณ์อื่นได้ ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้คงทนถาวรยิ่งขึ้น
 3.5 ช่วงเวลาในการเรียน ถ้าจัดให้ผู้เรียนได้เรียนช่วงก่อนพักกลางวันจะช่วยให้เรียนรู้ได้ดีกว่าเรียนในตอนบ่าย
  3.6 การฝึกฝน เมื่อผู้เรียนได้เรียนรู้แล้วมีโอกาสฝึกฝนหรือกระทำซ้ำๆ อยู่เสมอ จะทำให้การเรียนรู้นั้นมีความมั่นคงถาวร

ดังนั้นการที่คนเราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่างซึ่งได้แก่ ตัวผู้เรียน บทเรียน วิธีจัดการเรียนการสอน สิ่งเร้า แรงขับ และการตอบสนอง  ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้เร็วขึ้น  ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี และได้ผลดี นอกจากนี้องค์ประกอบเหล่านี้ยังทำให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนนั้นไปใช้ประโยชน์ในสถานการณ์อื่นได้ และทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนคงทนถาวรยิ่งขึ้นอีกด้วย


เอกสารอ้างอิง
    นราพร เล็กสุขุม. (...). จิตวิทยา...: ...
    วารินทร์ สายโอบเอื้อ. (2529). จิตวิยาการศึกษา(พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สยามยูเนี่ยน.
    อารี พันธ์มณี.(2534). จิตวิทยาการเรียนการสอนกรุงเทพฯ: บริษัทเลิฟแอนด์ลิฟเพรส จำกัด.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น